
ลัคนา
(จุดอาทิตย์อุทัย ที่เคลื่อนตัวไปตามอัตราการหมุนรอบตัวเองของโลก) คือ ความหมุนของโลกในระยะ ๑ วัน กำหนดด้วยวิถีของโลกโคจรตามคติในรอบ ๑ ปี เมื่อเราได้คำนวณสมผุสแล้วว่าพระอาทิตย์อยู่ในราศีใด มีมุมเป็นองศา ลิบดาเท่าใดก็จะรู้ได้ว่าลัคนาเกาะอยู่ที่ใด คือเกาะอยู่ในนวางค์ ตรียางค์ใดของราศีใด ตามคติเวลาของอันโตนาที
เส้นทางที่เป็นลัคนากำหนดไว้ว่า เวลาย่ำรุ่งเส้นนี้อยู่ตรงกับดวงอาทิตย์เสมอ และในราศีที่เห็นดวงอาทิตย์อยู่นั้น ระยะทางที่เห็นว่าดวงอาทิตย์ผ่านไปแล้วกี่องศา กี่ลิบดา เรียกว่า อดีต อาทิตย์อุทัย และอีกกี่องศา และลิบดาที่ดวงอาทิตย์จะต้องผ่านไปจนตลอดราศีนั้นเรียกว่า อนาคตอุทัย การที่ลัคนาเกาะอยู่ในเวลาย่ำรุ่งคือเส้นที่แบ่งเขตอดีต และอนาคตอุทัย ถ้าลากเส้นนี้ผ่านดวงอาทิตย์ออกเป็นสองซีก ให้ตรงไปยังดาวราศีที่เห็นข้างหลังดวงอาทิตย์ แล้วต่อเส้นตรงนี้มายังโลก เส้นตรงนี้จะผ่าโลกออกเป็นสองซีกตลอดขั้วโลกเหนือและใต้ เส้นตรงนี้เรียกว่าลัคนาที่เกาะอยู่ในโลกเมื่อเวลาย่ำรุ่ง ซึ่งก็คือเส้นเมอริเดียนของโลก ที่อยู่ตรงกับดวงอาทิตย์เมื่อเวลาย่ำรุ่ง เมื่อที่หมาย ณ ที่นั้นเคลื่อนไปจากที่ตรงกับดวงอาทิตย์ อันเนื่องด้วยการหมุนของโลก เรียกว่าลัคนาจรไป เมื่อจรไปบรรจบครบรอบที่เดิมก็เป็นห้วงเวลาหนึ่งวันพอดี ดังนั้นลัคนาจรก็คือเส้นเมอริเดียนจร เมื่อจรไประยะ ๑๒ ราศี ใน ๒๔ ชั่วโมง ราศีหนึ่งก็จะตก ๒ ชั่วโมงพอดี
ตามคติโบราณได้นำความรู้อันเป็นเกณฑ์คำนวณมาจากการวัดเงาแดด โดยกำหนดว่า เมื่อดวงอาทิตย์โคจรไปถึงลาดทางที่สูงสุดทางฝ่ายเหนือ เงาแดดตรงหลักในที่นั้นเมื่อเวลาเที่ยงวันจะไม่มีหรือเป็นศูนย์ เวลานั้นเรียกว่า อายันตรสงกรานต์เหนือ หลังจากนั้นดวงอาทิตย์จะต้องถอยกลับมาทางฝ่ายใต้ ลาดทางที่ถอยนี้ ทางภูมิศาสตร์เรียกว่าเส้นทรอปิคออฟ แคนเซอร์ ซึ่งเป็นเส้นที่แบ่งฤดูกาลหนาวร้อนเจือกัน เป็นฝ่ายเหนือ และฤดูร้อนเป็นฝ่ายใต้ สำหรับซีกโลกเหนือ
ถ้าจะพูดถึงปรากฏการณ์ในท้องฟ้า ดวงอาทิตย์โคจรถึงราศีกรกฏ คือ ดาวปู หรือปุษยฤกษ์ แล้วถอยจากฤกษ์นี้ลงทางใต้ ซึ่งจะตกในวันที่ ๒๒ มิถุนายน เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นสู่ราศีเมถุนได้ประมาณ ๑๐ วัน ตามปฏิทินโหรไทย เมื่อดวงอาทิตย์ถอยจากเหนือแล้ว เงาของหลักก็จะค่อย ๆ ยาวออกไปทางทิศเหนือเมื่อเวลาเที่ยงวัน วันละน้อย ๆ จนยาวได้ประมาณเท่าความยาว ๑๕ เม็ดข้าวเปลือก เรียกว่า ๑๕ พืช หรือ ๑๕ เพ็ชนาที หรือเท่ากับ ๑ รอยเท้า เรียกว่าบาท เมื่อเงาของดวงอาทิตย์ยาวออกไปได้ ๑ บาท แสดงว่าดวงอาทิตย์โคจรไปได้ ๑ ราศี เงายาวออกไปได้ ๖ รอยเท้าเป็นเวลา ๖ เดือน จากนั้นก็เริ่มหดสั้นจนเป็นศูนย์อีก เป็นเวลา ๖ เดือน รวม ๑ รอบ เท่ากับ ๑ ปี เป็นระยะทาง ๑๒ รอยเท้า เท่ากับดวงอาทิตย์โคจรไปได้ ๑๒ ราศี
เวลาเงาที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งยาวขึ้น และสั้นเข้าได้ ๑ รอยเท้านั้น ย่อมเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยกว่ากันไม่ได้ลงตัวอยู่ที่ ๓๐ วันเสมอไป
เมื่อย่อระยะทางในเวลา ๑ ปี มาคิดเป็นระยะทางในเวลา ๑ วัน โลกหมุนรอบตัวเอง ๑ วัน พร้อมกับโคจรเคลื่อนที่ไป ประมาณ ๑ องศา การแนวทางโคจรจึงเป็นวงรี ดังนั้นจึงนำเอา ๖๐ มหานาที ซึ่งเป็นเกณฑ์ ๑ วันในครั้งกระนั้นมาคิดเฉลี่ย ได้เวลาในราศีมีนกับราศีเมษ ราศีละ ๕ มหานาที ราศีพฤกษภ กับราศีกุมภ์ ราศีละ ๔ มหานาที ราศีเมถุนกับราศีมังกร ราศีละ ๓ มหานาที ราศีกรกฏกับราศีธนู ราศีละ ๕ มหานาที ราศีสิงห์กับราศี พฤศจิก ราศีละ ๖ มหานาที ราศีกันย์และราศีตุลย ราศีละ ๗ มหานาที เกณฑ์ดังกล่าวนี้เรียกว่า อันโตนาที
การวางลัคนาให้คิดเวลาเกิดตั้งแต่อนาคตอาทิตย์อุทัยไปจนถึงเวลาที่เกิด แล้วเอาเวลาอนาคตอาทิตย์อุทัยลบออกเสียก่อน จากนั้นเอาเวลาตามอันโตนาทีในราศีข้างหน้าลบต่อไปโดยลำดับ เมื่อลบไม่ได้ในราศีใด ลัคนาก็จะตกอยู่ในราศีนั้น
ถ้าอธิบายตามความหมายบนพื้นโลกแล้ว เส้นเมอริเดียนที่อยู่ตรงกับดวงอาทิตย์เมื่อเวลาอาทิตย์อุทัยนั้น เมื่อเคลื่อนที่ผ่านลาดทางของดวงอาทิตย์ที่เรียกว่า อีคลิปติค อยู่ในเวลาอันโตนาทีของราศีใด ลัคนาก็จะอยู่ในราศีนั้น ดาวพระเคราะห์ดวงใดที่เห็นอยู่ตรงราศีใด ณ เวลาตกฟาก ก็จะเป็นที่อยู่ของดาวพระเคราะห์ดวงนั้นในดวงชาตาไปตลอดชีวิต
การกระทำกิจการใด ๆ ก็ดี จะถือเอาเวลาเริ่มต้นของกิจการนั้นเป็นลัคนาของกิจการนั้น ๆ และมีความสัมพันธ์กับดวงชาตากำเนิดของผู้เป็นเจ้าของกิจการนั้น ๆ ถ้าดวงชาตากำเนิดให้ร้ายแต่ดวงชาตาการงาน หรือดวงชาตาการงานให้ร้ายแก่ดวงชาตากำเนิด ก็จะเกิดความผลเสียแก่กิจการนั้น ๆ และผู้ทำกิจการนั้น ๆ ด้วย ดังนั้นจึงให้วางดวงชาตากำเนิดไว้เป็นหลักของดวงกิจการก่อน เมื่อการโคจรของดาวพระเคราะห์มาเป็นผลดีต่อดวงชาตากำเนิดแล้ว ก็จะจัดวางลัคนาของกิจการนั้น ๆ ให้เป็นโยคแก่ชาตาเดิม